ศอ.บต. จับมือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา

Spread the love

ศอ.บต. จับมือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา

ป้องกันไม่ให้ลุกลาม หลังได้ผ่าน มติ กพต. เห็นชอบหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

วันนี้ (19 มีนาคม 2564) เวลา 09.00 น. กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน    ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดประชุมติดตามขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ร่วมประชุมหารือด้านบริการวิชาการ เรื่องแนวทางการควบคุมการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร  เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม พร้อมร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมเซาเทิร์น  แอร์พอร์ต อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ มีทีมงานจากการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง, สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร, ศูนย์ควบคุมยางสงขลา, สถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, การยางแห่งประเทศไทย 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, สำนักงานเกษตรจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเข้าประชุมในครั้งนี้ด้วย 

สำหรับการประชุมการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 หลังจากได้ผ่าน มติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยมติ กพต. เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กำหนดเป้าหมายดำเนินการในระยะเร่งด่วน ระยะต่อเนื่อง และระยะยั่งยืน ให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักในการอำนวยการ ประสานงานในภาพรวม ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อร่วมหาทางไม่ให้ต้นยางยืนต้นตาย และเลี่ยงให้เกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบกับเกษตรกร รวมทั้งประชาชนในพื้นที่อาจจะได้รับความเสียหายและความเดือดร้อนอย่างมาก

ทั้งนี้ มีรายงานเกี่ยวกับต้นยางพาราที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 ที่ผ่านมาพบว่า จังหวัดนราธิวาสได้รับความเสียหายจำนวน 803,053.02 ไร่ จังหวัดปัตตานี ได้รับความเสียหายจำนวน 6,312 ไร่ จังหวัดยะลา ได้รับความเสียหายจำนวน 88,516.74 ไร่ จังหวัดสงขลา ได้รับความเสียหายจำนวน 6,632.25 ไร่ และจังหวัดสตูล ได้รับความเสียหายจำนวน 204.75 ไร่

อย่างไรก็ตาม การยางแห่งประเทศไทย ได้จัดสรรงบประมาณจากการกองทุนพัฒนายางตามมาตรา 49 (3) เร่งดำเนินการบูรณาการดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงในยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทาง การยางแห่งประเทศไทย จะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าที่ประชุมหารือกับบอร์ดผู้บริหารในวันที่ 26-27 มีนาคม 2564 เพื่อหารือประเด็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนต่อไป

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics