ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม 2563     

อ.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง
Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม 2563              

                ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

 

              ผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม เปรียบเทียบเดือนพฤศจิกายน และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการข้อคำถาม พฤศจิกายน ธันวาคม คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 25.90 51.20 22.90 25.30 49.50 25.20 35.40 48.30 16.30
2. รายได้จากการทำงาน 26.40 49.30 24.30 25.70 48.80 25.50 37.10 48.50 14.40
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 35.60 49.70 14.70 34.60 48.90 16.50 30.10 54.60 15.30
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 27.40 49.50 23.10 26.30 47.40 26.30 30.30 48.60 21.10
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 28.20 49.30 22.50 27.60 48.50 23.90 33.50 49.40 17.10
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 27.80 50.70 21.50 27.30 49.10 23.60 32.10 46.30 21.60
7. การออมเงิน 27.70 49.20 23.10 26.70 48.40 24.90 39.60 49.80 10.60
8. ค่าครองชีพ 35.80 50.10 14.10 34.60 49.30 16.10 32.80 35.70 31.50
9. ภาระหนี้สิน 29.50 52.30 18.20 28.70 49.50 21.80 35.60 45.80 18.60
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 27.00 47.40 25.60 26.20 46.80 27.00 34.10 55.80 10.10
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 29.10 47.50 23.40 28.60 47.20 24.20 32.40 50.10 17.50
12. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 21.60 45.90 32.50 21.20 45.40 33.40 30.40 48.90 20.70
13. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 27.90 49.80 22.30 26.70 49.50 23.80 32.80 54.10 13.10
                       

 

 

 

    ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม 2563

 รายการข้อคำถาม ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 42.70 44.30 42.50
2. รายได้จากการทำงาน 39.80 41.10 39.40
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 48.60 49.80 48.90
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 39.50 39.70 39.10
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 49.40 49.60 49.20
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 38.80 39.20 38.90
7. การออมเงิน 41.90 42.20 42.00
8. ค่าครองชีพ 43.30 42.80 42.70
9. ภาระหนี้สิน 45.20 45.30 45.80
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 35.80 35.20 34.90
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 49.10 48.40 48.40
12. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 31.50 33.40 32.60
13. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 36.40 36.50 36.30
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 42.60 43.40 42.20

อ.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง

 

                ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม พบว่า ในเดือนธันวาคมดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวลดลง โดยดัชนีที่ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยลบมาจากหลายปัจจัย อาทิ สภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของภาคใต้ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ส่งผลให้พืชผลการเกษตร ยางพาราลดลง อีกทั้ง ทำให้การท่องเที่ยวภาคใต้ชะลอตัวลง ประกอบกับช่วงกลางเดือนธันวาคมเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ลุกลามและแพร่ระบาดในขณะนี้กว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคใต้มีจังหวัดที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล นราธิวาส และระนอง โดยประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมองว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 อาจจะมีเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย เนื่องจากโควิด-19 ระลอกใหม่ที่แพร่ระบาดนี้เป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มักจะไม่แสดงอาการ ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันดีจำนวนไม่น้อย ยังไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 และยังไม่ได้ไปตรวจหาเชื้อ รวมถึงยังคงใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ และเดินทางไปมาหาสู่กับผู้คนเหมือนเดิม อาจจะแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาทิ ผู้สูงวัย เด็กทารก ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง 

                การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ อาจจะดูไม่รุนแรงเหมือนระลอกแรก เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความมั่นใจและคิดว่าสามารถรับมือได้  อย่างไรก็ตาม ข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยและภาคใต้เป็นอย่างมาก  สังเกตได้จากเมื่อข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ใน 50 กว่าจังหวัดของประเทศ ทำให้ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งซึ่งจองที่พักในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ยอมเสียเงินและยกเลิกการจอง เพราะไม่ต้องการเสี่ยง ประกอบกับประชาชนที่เป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจำนวนมากไม่ต้องการไปไหน หลังจากรับรู้ถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการเฉลิมฉลองในช่วงสิ้นปีลดน้อยลงเป็นอย่างมาก ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจซึ่งมีแนวโน้มจะดีขึ้น ด้วยมาตรการคนละครึ่ง แต่กลับตกต่ำลงไปอีก  โดยประชาชนส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า หลังปีใหม่จะมีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เนื่องจากคนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวด้วยเครื่องบินและรถโดยสารสาธารณะจำนวนมาก ทำให้การเว้นระยะห่างทำได้ไม่ดีพอ  อีกทั้ง ในช่วงเทศกาลปีใหม่มีการสังสรรค์ในหมู่ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง การดื่มสุราและของมึนเมาจนขาดสติในการระมัดระวังการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ช่วงเทศกาลปีใหม่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ง่าย และแพร่กระจายในวงกว้างขึ้น

                ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดจากตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร โดยเชื่อว่าเชื้อเริ่มต้นมาจากแรงงานเมียนมาที่ลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย และไม่ได้มีการกักตัว 14 วัน ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า แรงงานเมียนมาและแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาไม่ใช่เพียงแต่อาศัยและทำงานอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครเพียงจังหวัดเดียว แต่เดินทางไปอยู่แทบทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งหากเป็นไปตามข้อสันนิษฐาน แสดงว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยแล้ว  โดยประชาชนและนักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า ต้นเหตุของปัญหาไม่ใช่แรงงานต่างด้าว แต่เป็นการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ ดังนี้

  1. หน่วยงานตำรวจ ทหาร และหน่วยงานปกครอง ในพื้นที่บริเวณชายแดน ปล่อยปละละเลย ทำให้มีแรงงานต่างด้าวสามารถลักลอบเข้ามาได้
  2. ผู้มีอำนาจในพื้นที่ชายแดนหาผลประโยชน์จากการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวโดยมิชอบ
  3. รัฐมนตรีและผู้บริหารของกระทรวงแรงงานขาดวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการด้านแรงงาน  เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ประกอบการในประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ดังนั้นจึงควรมีมาตรช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวให้สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้ง ควรกำหนดงบประมาณการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการกักตัวของแรงงานต่างด้าวระหว่างภาครัฐกับสถานประกอบการ เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าว

                ดัชนีความเชื่อมั่นประชาชนภาคใต้เดือนธันวาคมที่ลดลงแทบทุกด้าน ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมองว่า เป็นเพราะการบริหารงานของภาครัฐที่มีผู้บริหารกระทรวงส่วนหนึ่งไม่เป็นมืออาชีพ หากเป็นองค์กรเอกชนคงเจ๊ง และปิดกิจการไปนานแล้ว  เนื่องจากผู้บริหารบางกระทรวงไม่มีความรู้ความเข้าใจในกระทรวงนั้น แต่กลับได้ตำแหน่งมาเพราะสัดส่วนโควตาของพรรค และเป็นผู้สนับสนุนของพรรค แม้ว่าประชาชนภาคใต้จำนวนไม่น้อยที่มองว่าพลเอกประยุทธ์ มีลักษณะของความเป็นผู้นำ และมีความซื่อสัตย์  แต่การบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ยังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเท่าที่ควร โดยการทำงานเป็นแบบเชิงรับมากกว่าเชิงรุก และแทบทุกโครงการมีช่องโหว่มากมาย ทั้งนี้ โครงการที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและได้รับการกล่าวถึง 2 โครงการ ดังนี้

  1. โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เป็นโครงการที่ดีและสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี หากภาครัฐมีการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ  แต่จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาพบช่องโหว่มากมาย ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ  โดยเฉพาะโรงแรม ร้านค้า และร้านอาหารกว่า 500 แห่ง  โดยมีการดำเนินงานแบบไม่โปร่งใส เช่น  1) มีการเช็กอินแต่ไม่ได้เข้าพักจริง  2) ราคาห้องพักของโรงแรมไม่แน่นอน โดยหากใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกันจองผ่านโรงแรมหรือผ่านบริษัทตัวแทน ราคาห้องพักจะสูงกว่าการจองโดยไม่ใช้สิทธิ์  3) มีการขายห้องพักโดยไม่มีที่พัก  4) การคิดราคาค่าอาหารสูงกว่าปกติ ในกรณีผู้ใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน  5) การร่วมกันฉ้อโกงระหว่างไกด์กรุ๊ปทัวร์กับโรงแรม เช่น พักจริง 100 ห้อง แต่เปิดขาย 200 ห้อง และนำส่วนต่างทั้งราคาห้องพัก และอี-คูปอง จำนวน 100 ห้องมาแบ่งผลประโยชน์กัน  และมีกลโกงอีกมากมาย  อย่างไรก็ตาม ผู้กระทำผิดก็เป็นเพียงส่วนน้อยจึงไม่ควรยุติโครงการ แต่ภาครัฐควรออกมาตรการทางกฎหมาย และบทลงโทษที่รุนแรง ทั้งทางอาญา และทางเพ่ง โดยไม่ให้ธุรกิจเหล่านี้เข้าร่วมโครงการของภาครัฐอีก รวมถึงการจ่ายค่าปรับที่สูง  อีกทั้ง ให้ประชาชนเป็นผู้ช่วยในการตรวจสอบธุรกิจเหล่านี้  หากประชาชนมีหลักฐานการดำเนินงานของธุรกิจที่มีพฤติกรรมการฉ้อโกง ให้นำหลักฐานมาแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากตรวจสอบแล้วเป็นความจริง ภาครัฐจะแบ่งเงินค่าปรับจำนวนหนึ่งให้กับผู้ที่มาแจ้งเบาะแส

                ในส่วนของแอปพลิเคชันเป๋าตังมีปัญหา คือ ระบบใช้งานไม่เสถียร การใช้งานค่อนข้างยาก และเกิดการผิดพลาดในการจอง ทำให้บางครั้งผู้จองที่พักโดยใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกันในแอปพลิเคชันเป๋าตังผ่านบริษัทตัวแทน แต่เมื่อจองเสร็จผลการจองกลับเป็นการจองโดยไม่ใช้สิทธิ์ ส่งผลให้ผู้เข้าพักไม่ได้ส่วนลดค่าห้องพัก และไม่ได้ E-คูปอง  นอกจากนี้ การจองผ่านบริษัทตัวแทนทำให้ห้องพักมีราคาสูงกว่าปกติ เนื่องจากโรงแรมจะบวกราคาเพื่อจ่ายให้กับบริษัทตัวแทน และบริษัทตัวแทนก็ยังมีตัวแทนนายหน้าอีกหลายต่อ โดยผลประโยชน์จำนวนมากจึงตกอยู่กับบริษัทตัวแทนเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ โดยในความเป็นจริงผลประโยชน์ของโครงการนี้ควรตกอยู่กับผู้ประกอบการธุรกิจ และประชาชนคนไทย 100%  หากหน่วยงานภาครัฐไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทตัวแทนเหล่านี้ ประชาชนขอเสนอให้ภาครัฐควรยกเลิกระบบตัวแทน และให้ประชาชนจองตรงกับโรงแรม โดยราคาห้องพักในการใช้สิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วย หรือไม่ใช้สิทธิ์จะต้องเป็นราคาเดียวกัน โดยผู้เข้าพักจ่ายให้กับโรงแรม 60% ของราคาห้องพัก และควรให้สามารถจองก่อนล่วงหน้าได้เพียง 1 วัน เพื่อความสะดวกของผู้ใช้สิทธิ์  นอกจากนี้ ร้านค้า และร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันมีจำนวนน้อยมาก ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบควรให้ร้านค้าและร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง สามารถเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันโดยอัตโนมัติ

  1. โครงการ “คนละครึ่ง” นับเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีที่สุดในรอบ 6 ปี ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะในภาคใต้มีการจับจ่ายใช้สอยกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม โครงการคนละครึ่งก็มีจุดอ่อนและช่องโหว่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของระบบการใช้งานที่ไม่เสถียร การใช้งานค่อนข้างยาก การไม่รองรับสมาร์ทโฟนรุ่นเก่า ดังนั้น ประชาชนจึงเสนอให้ภาครัฐควรจ้างบริษัทที่เป็นมืออาชีพมาพัฒนาระบบให้มีคุณภาพที่ดี และควรมีคอลเซ็นเตอร์คอยให้บริการตอบคำถามโดยประชาชนมองว่า ธนาคารกรุงไทยดำเนินงานได้ไม่ดี ทั้งการบริหารจัดการระบบแอปพลิเคชันเป๋าตัง และระบบการให้บริการสนับสนุนอื่น ๆ

                นอกจากนี้ ภาครัฐควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ประชาชนเกิดการใช้สอยที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการคนละครึ่ง เฟสหนึ่ง ประมาณ 10 ล้านคน รัฐสนับสนุนวงเงินคนละ 3,000 บาท โดยประชาชนกลุ่มที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจำนวนมากได้ใช้สิทธิ์คนละครึ่งไปหมดแล้ว ถึงแม้ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ภาครัฐสนับสนุนเพิ่มเติมคนละ 500 บาท ก็คงจะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก  ในขณะที่ภาครัฐได้เปิดให้ผู้ลงทะเบียนใหม่คนละครึ่งเฟสสอง ประมาณ 5 ล้านคน รัฐสนับสนุนคนละ 3,500 บาท ซึ่งอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ไม่มากเหมือนช่วงเฟสหนึ่ง  ทั้งนี้ ประชาชนส่วนหนึ่งเสนอว่า ใน        ไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ภาครัฐควรจัดรูปแบบการให้สิทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยให้ประชาชนเลือก 1 รูปแบบ จาก 3 รูปแบบ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และเหมาะสมกับการใช้จ่ายของแต่ละคน ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละรูปแบบมีรายละเอียด ดังนี้

                รูปแบบที่ 1  50 : 50 หรือ คนละครึ่ง รัฐสนับสนุน 3,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน  3 ล้านสิทธิ์

                รูปแบบที่ 2  60 : 40 ประชาชน 60% รัฐ 40%  รัฐสนับสนุน 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน 3 ล้านสิทธิ์

                รูปแบบที่ 3  70 : 30 ประชาชน 70% รัฐ 30%  รัฐสนับสนุน 7,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน 3 ล้านสิทธิ์

                ทั้งนี้ การดำเนินโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลายโครงการเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนฐานราก ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ภาครัฐขาดกระบวนการคิดที่รอบด้าน และไม่มีระบบแผนงานที่รัดกุม รวมถึงขาดแผนสำรองเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในโครงการฯ ขาดความรู้ ความเข้าใจ ในระบบและกลไกของธุรกิจเอกชน ทำให้การกำหนดกฎเกณฑ์ เงื่อนไขต่าง ๆ เปิดช่องโหว่ให้ผู้ประกอบการที่ไม่ซื่อสัตย์ ฉกฉวยโอกาสเพื่อหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากโครงการฯ ทำให้เสียงบประมาณของประเทศโดยสูญเปล่า และประชาชนไม่ได้รับสิทธิ์เท่าที่ควรจะได้รับ ทั้งที่เงินทุกบาทเป็นเงินจากภาษีประชาชน ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจึงควรได้รับประโยชน์สูงสุดจากทุกโครงการของภาครัฐ

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 35.40 และ 37.10 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30.10 และ 30.30 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 33.50 , 30.40 และ 32.80 ตามลำดับ

                 ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 25.40 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และการเมือง คิดเป็นร้อยละ 20.80 และ 13.60 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ

 

 

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics