ภาพถ่ายชนะเลิศ “กาแล็กซีแบบกังหัน เงาเสี้ยว ดาวหางนีโอไวส์ เส้นแสงดาวที่เสาดิน และบลูเจท”

Spread the love

ภาพถ่าย “กาแล็กซีแบบกังหันงาเสี้ยว ดาวหางนีโอไวส์ เส้นแสงดาวที่เสาดิน และบลูเจท

ชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2563

            สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศผลการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ประจำปี 2563 “กาแล็กซีแบบกังหัน เงาเสี้ยว ดาวหางนีโอไวส์ เส้นแสงดาวที่เสาดิน และบลูเจท” คว้าสุดยอดภาพถ่ายดาราศาสตร์ในปีนี้ เผยมีผู้สนใจร่วมภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดเกือบพัน  มากที่สุดตั้งแต่เคยจัดการประกวดมา  สะท้อนความสนใจการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ในหมู่คนไทยที่เพิ่มมากขึ้น  จุดประกายนักดาราศาสตร์สมัครเล่นหน้าใหม่ สร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมการถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี

           นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า สดร. จัดประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ติดต่อกันเป็นปีที่ 13 แบ่งประเภทภาพถ่ายออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย วัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects)   ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์     วัตถุในระบบสุริยะ วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ และปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก  ในปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวด จำนวนทั้งสิ้น 851 ภาพ มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา มีนักถ่ายภาพดาราศาสตร์สมัครเล่นหน้าใหม่ที่น่าจับตาเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด ผลงานโดดเด่นและมีคุณภาพ ซึ่งแต่ละภาพต้องอาศัยทักษะความรู้ทั้งด้านการถ่ายภาพ เทคนิคการประมวลผลภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านดาราศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจวัตถุท้องฟ้าและปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่าง ๆ 

           นายศุภฤกษ์ เผยถึงบรรยากาศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ในปีนี้ว่า ภาพถ่ายประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึกมีผู้สนใจส่งภาพเข้าประกวดมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และเป็นประเภทที่คณะกรรมการคัดเลือกยากที่สุดเช่นกัน  เนื่องจากมีภาพวัตถุใหม่ ๆ หลากหลายมากขึ้น  แต่ละภาพผู้ถ่ายใช้ความพยายามและใช้เวลาถ่ายนานกว่า 10 ชั่วโมง  เก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดีและประมวลผลภาพออกมาได้สวยงาม

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics