กฟผ. ให้ความมั่นใจ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ. ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในระดับสากล มีศักยภาพควบคุมฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ได้ตามเกณฑ์ของ World Health Organization (WHO) ปี 2005 และดีกว่าค่ามาตรฐานประเทศไทยกำหนด
นายกรศิษฎ์ ภัคโตชานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายประเทศ ยังให้บทบาทสำคัญต่อการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างมาก อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น กัมพูชา ฯ เนื่องจากถ่านหินมีปริมาณสำรองในโลกเพียงพอกับความต้องการใช้ในระยะยาว ทำให้ค่าไฟมีราคาที่เสถียร เป็นธรรมทั้งต่อผู้ผลิตไฟฟ้า และผู้บริโภค ที่สำคัญเทคโนโลยีที่ใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินปัจจุบันมีวิวัฒนาการก้าวไกล ทันสมัย สามารถควบคุมมลภาวะให้อยู่ในระดับที่มีปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างขึ้นใหม่ ในความรับผิดชอบของ กฟผ. ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2015 ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แบบ Ultra Supercritical ที่มีประสิทธิภาพสูง ลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง และลดการปล่อยมลสาร มีการกำหนดมาตรการควบคุมมลภาวะที่ดีกว่ามาตรฐานของประเทศ ตามเกณฑ์แนะนำของ World Health Organization (WHO) ปี 2005 ตลอดจนควบคุมฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตรหรือไมครอน (µm) หรือ PM 2.5 รวมถึง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และโลหะหนักต่าง ๆ โดย กฟผ. ได้กำหนดไว้ในรายงาน EHIA ซึ่งโรงไฟฟ้าจะต้องถือปฏิบัติตาม และตรวจวัดทั้งภายในบริเวณพื้นที่โดยรอบ ตลอดอายุโรงไฟฟ้า 25-30 ปี จึงมั่นใจได้ว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 โครงการ ของ กฟผ. จะไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการกำจัดฝุ่นที่ทันสมัยที่สุด โดยโรงไฟฟ้าทุกโรงจะติดตั้งเครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator – ESP) ซึ่งมีประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นก่อนปล่อยออกจากปล่องโรงไฟฟ้าสู่บรรยากาศได้ถึงร้อยละ 99 – 99.8 ดังเช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีการติดตั้งเครื่อง ESP จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ หรือปริมาณฝุ่นในบรรยากาศรอบบริเวณโรงไฟฟ้า จำนวน 11 สถานี จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศเมื่อเดือนกันยายน 2558 พบว่า มีค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ระหว่าง 7-41 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM2.5 เฉลี่ย 3-18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดีกว่ามาตรฐานของประเทศ PM10 ในบรรยากาศไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ PM2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดีกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกกำหนด PM10 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ PM2.5 ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันว่า คุณภาพอากาศจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อยู่ในเกณฑ์ดีตามมาตรฐานของประเทศไทย และองค์การอนามัยโลก จึงไม่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอย่างแน่นอน
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อไปอีกว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งผลการศึกษาแหล่งที่มาของฝุ่นละอองในพื้นที่แม่เมาะพบว่า ร้อยละ 50 มาจากควันที่เกิดจากการเผาวัสดุ เศษวัชพืช และไฟป่า และสอดคล้องกับช่วงเวลาการเกิดไฟป่าในราวเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2558 หากผ่านพ้นช่วงดังกล่าวค่าฝุ่นละอองจะกลับมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งยังมีคุณภาพอากาศดีกว่าในเขตเมืองของกรุงเทพ (ริมถนนดินแดง) อีกด้วย
ด้านรายงานผลวิจัยของมหาวิทยาลัย Stuttgart ประเทศเยอรมนี ได้ศึกษาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถานหินในทวีปยุโรป ซึ่งมีโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 300 โรง กำลังผลิตรวม 190,000 เมกะวัตต์ ทำให้มีค่า PM2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐาน จึงเป็นสาเหตุของการห้ามยุโรปพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม แต่หากดูบริบทของประเทศไทยแล้ว ยังมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ถึง 5,000 เมกะวัตต์ และผลการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ดีกว่าค่ามาตรฐาน การพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน
Created: Wednesday, 09 November 2016 14:28