สดร. มอบกล้องโทรทรรศน์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 สู่โรงเรียนรวมแล้วกว่า 360 แห่งทั่วประเทศ

Spread the love

16 มิถุนายน 2561 – กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ พร้อมฝึกอบรมการใช้งานกล้องโทรทรรศน์ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ส่งมอบเพิ่มเติม 50 โรงเรียนจาก 26 จังหวัด เผยดำเนินการมา 4 ปี ส่งมอบให้โรงเรียนทั่วประเทศ 360 แห่ง จาก 76 จังหวัด ตอบสนองนโยบายรัฐสำหรับจัดกิจกรรมเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ตลอดจนสร้างโอกาสการเรียนรู้สู่ประชาชนในชุมชนใกล้เคียง

          ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กล่าวว่า สดร. ดำเนินโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีเป้าหมายมอบกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสงแบบดอบโซเนียน ขนาด 10 นิ้ว พร้อมสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้โรงเรียนที่ขาดแคลน นำไปใช้จัดการเรียนการสอนและกิจกรรมทางดาราศาสตร์ทั้งในและนอกห้องเรียน ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และกระตุ้นความตื่นตัวทางดาราศาสตร์อย่างกว้างขวาง ผ่านโรงเรียนเครือข่ายไปยังชุมชนใกล้เคียง ช่วยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับดาราศาสตร์และร่วมเรียนรู้ไปกับ สดร. และโรงเรียนเครือข่ายทั้ง 360 โรงเรียนทั่วประเทศ

          “เราไม่ได้ให้มอบกล้องโทรทรรศน์ให้เพียงแค่โรงเรียน แต่อยากให้ทุกโรงเรียนในโครงการเป็นจุดศูนย์กลางการจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญตลอดทั้งปีร่วมกับสดร. และมุ่งหวังเป็นพิเศษให้เด็กและเยาวชนได้ใช้งานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดความใฝ่รู้ จินตนาการ แรงบันดาลใจ และท้ายที่สุดพวกเขาจะรู้ว่าวิทยาศาสตร์มีคำตอบที่สามารถใช้อธิบายทุกปรากฏการณ์ธรรมชาติได้” ดร.ศรัณย์ กล่าว

          ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. ยังจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานกล้องโทรทรรศน์ ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะทางดาราศาสตร์ เพื่อให้ครูสามารถตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อใช้งานได้เอง ทั้งนี้ กล้องโทรทรรศน์ที่มอบให้โรงเรียนในโครงการฯ พัฒนาโดย สดร. และผู้ผลิตคนไทย ผลิตจากวัสดุน้ำหนักเบา ทนทาน ใช้งานง่าย และได้รับการพัฒนารูปแบบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุด เหมาะสำหรับสังเกตการณ์ดาวเคราะห์เนื่องจากมีกำลังขยายสูงสุดที่ 200 เท่า เช่น ศึกษาวงแหวนของดาวเสาร์ แถบเมฆบนดาวพฤหัสบดี ภูเขาและหลุมอุกกาบาตบนพื้นผิวดวงจันทร์ รวมถึงกาแล็กซี เนบิวลา และกระจุกดาวต่าง ๆ เป็นต้น มีประโยชน์ต่อทำงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน นอกจากนี้ หากกล้องโทรทรรศน์ชำรุดหรือพบปัญหา สดร. ยินดีให้คำปรึกษาตลอดการใช้งานอีกด้วย

          ในปี 2561 สดร. คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 100 โรงเรียน เข้ารับมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ณ อิมแพคฟอรัม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกรับมอบไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา จำนวน 50 โรงเรียน จาก 27 จังหวัดในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง มอบเพิ่มเติมอีก 50 โรงเรียน จาก 26 จังหวัด ในเขตพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร สรุปผลการดำเนินการตลอด 4 ปี ส่งมอบให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและเอกชนทุกระดับชั้นรวมแล้ว 360 แห่ง จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ

          นางสาววนิดา ปิงสุแสน ครูชำนาญการ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ รร.สันติคีรีวิทยาคม จ.เชียงราย กล่าวว่า โรงเรียนเปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษา มีนักเรียนมากกว่า 800 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยบนดอยแม่สลอง แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ทางสื่ออนไลน์ ผ่านโครงการนักดาราศาสตร์รุ่นเยาว์ในโรงเรียน แต่นักเรียนยังไม่เคยสัมผัสประสบการณ์จริงด้วยตาของตนเอง กล้องโทรทรรศน์ที่ได้รับจะช่วยเปิดโลกทัศน์และกระตุ้นความสนใจได้ดียิ่งกว่า ทั้งยังสามารถขยายผลการใช้อุปกรณ์และสื่อดาราศาสตร์ยังโรงเรียนชั้นประถมศึกษาในเขตพื้นที่บริการ รวมถึงชุมชนต่างๆบนดอยแม่สลอง โดยมีนักเรียนในโครงการนักดาราศาสตร์รุ่นเยาว์เป็นผู้แนะนำการใช้งาน และให้ความรู้ทางดาราศาสตร์ที่ได้ศึกษามาด้วยตนเองต่อไป

          นางสาวรัตนวจี ศรีพิทักษ์เที่ยงแท้ ครูสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ รร.วัดพรหมวิหาร จ.ชัยนาท กล่าวว่า นักเรียน รร.พรหมวิหาร ประกอบด้วยนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น รวมประมาณ 150 คน เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็กที่ใกล้ชิดชุมชน ที่ผ่านมาเคยจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญด้วยอุปกรณ์ประยุกต์จากสิ่งของที่มีอยู่เดิม ได้รับความสนใจทั้งจากนักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมาก ครูเชื่อมั่นว่ากล้องโทรทรรศน์ที่ได้รับมอบจะกระตุ้นการเรียนรู้ดาราศาสตร์แก่นักเรียนได้ดีกว่าอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิมและดีกว่าการอธิบายเฉพาะทฤษฎี ซึ่งไม่เห็นภาพจนอาจทำให้นักเรียนมองดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว เมื่อนักเรียนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ก็จะมีส่วนส่งต่อทัศนคติที่ดีไปยังผู้ปกครอง บุคคลใกล้ชิด และชุมชนต่อไปในอนาคต

ในพิธีมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ครั้งที่  2 ประจำปี 2561 ดร.ศรัณย์ แสดงความยินดีกับโรงเรียน 50 โรงเรียนที่ได้รับมอบ พร้อมกล่าวว่าทุกโรงเรียนจะเป็นส่วนสำคัญในการขยายผลโครงการ และหวังว่าโรงเรียนจะนำกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อโรงเรียนและชุมชนต่อไป สำหรับโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเจริญพระชนมายุ 5 รอบ สานต่อแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดาร ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาและการพัฒนาที่เท่าเทียมกัน

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics