กอ.รมน.ภาค 4 ร่วมกับ ศอ.บต. หารือ ยกระดับการดูแลพระพุทธศาสนาในพื้นที่ จชต. มุ่งดูแลบูรณะวัดร้าง จัดตั้งกลไกทำงาน ตอบสนองความต้องการของ ปชช.ให้ได้มากที่สุด
วันนี้ (27 พฤศจิกายน 66) เวลา 15.30 น. ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) หารือนายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. และคณะ ในการติดตามการดำเนินงานดูแลประชาชนไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ ที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวขอบคุณ ศอ.บต. ในการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิถีไทย ดูแลวัด พระสงฆ์ และบุคลากรภายในวัด ในพื้นที่ จชต. ในส่วนของ กอ.รมน. ภาค 4 สน. ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาและส่งเสริมพระพุทธศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มีการประสานดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ พุทธสมาคม มหาวิทยาลัยสงฆ์ในพื้นที่และประชาชน เพื่อยกระดับพระพุทธศาสนาให้มีความเข้มแข็ง
ด้านนาวาเอก จักพงศ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน (กสพ.) ศอ.บต. กล่าวถึงแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิถีไทย ที่ ศอ.บต. เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในรัฐบาลที่ผ่านมา มีกรอบระยะเวลา ตั้งแต่ปี 2565-2570 ซึ่งขณะนี้ยังมีผลบังคับใช้อยู่ โดย กพต. มีการอนุมัติแผนดำเนินการ โดยแผนดังกล่าวมีจุดเน้นสำคัญในการดำเนินงาน ประกอบด้วย การพัฒนาวัด สำนักสงฆ์ โดยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ระบุให้มีการดูแลรักษาความปลอดภัยของสงฆ์และบุคลากรภายในวัด ส่งเสริมให้มีพระสงฆ์ใน จชต. อย่างเหมาะสม สำหรับวัดที่ไม่มีพระภิกษุสงฆ์ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติของพระสงฆ์ และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นอกจากนี้ยังส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนไทยพุทธ โดยมีจุดเน้นส่งเสริมให้ประชาชนไทยพุทธ สามารถอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาเดิม ไม่ย้ายถิ่นฐานไปไหน และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตในทุกด้าน อีกทั้งยังระบุจุดเน้นในการสร้างเสรีภาพ ความเข้าใจอันดีในสังคมพหุวัฒนธรรม พร้อมให้จัดตั้งกลไกบูรณาการขับเคลื่อน ส่งเสริมวิถีไทยชายแดนใต้ ทั้งนี้ ศอ.บต. ได้ยกร่างคำสั่ง เสนอให้ กพต. เห็นชอบ โดยมีเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานอนุกรรมการ อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ศอ.บต.ได้ดำเนินการตามมติ กพต. อย่างต่อเนื่อง ได้บูรณะสังขรณ์วัดที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่แล้ว 134 วัด