ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเผย  2 ปี  การขับเคลื่อน15วาระสงขลาเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน

Spread the love

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเผย  2 ปี  การขับเคลื่อน15วาระสงขลา เดินหน้าสงขลาเดินหน้าประเทศไทยทะลุเป้า  ประชาชนขานรับ เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน

…………………………………………………..

จากนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีที่มุ่งเน้นการพัฒนา 11 ด้าน ประกอบด้วย การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์   การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศในระยะเร่งด่วน   การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐการศึกษาและเรียนรู้   การทะนุบำรุงศาสนา  ศิลปะและวัฒนธรรม    การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน   การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ    การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน    การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี     การวิจัยและการพัฒนา และนวัตกรรม การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน    การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ       การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม   

         นายทรงพล  สวาสดิ์ธรรม  ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยคณะทำงานได้ร่วมกันกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาจังหวัดสงขลา  ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกับความต้องการของประชาชน    ทิศทางการเติบโตด้านเศรษฐกิจ  วิถีชีวิตของชุมชน  และบริบทอื่นๆ   ภายใต้แผนการพัฒนาจังหวัด   “วาระสงขลา  15  วาระ  เดินหน้าสงขลา เดินหน้าประเทศไทย” ซึ่งเน้นให้ทุกฝ่ายร่วมใจบริหารการเปลี่ยนแปลง   บริหารการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ครบทุกมิติ เริ่มจากการปรับวิธีการทำงาน ลดรูปแบบ ขั้นตอน พิธีการ เน้นทำงานเชิงรุก คลุกพื้นที่  มีส่วนร่วม มุ่งผลสัมฤทธิ์  การรายงานภารกิจการทำงานของผู้บริหารผ่านสื่อเพื่อให้ประชาชนทราบ   ริเริ่มการพัฒนาในลักษณะ”กลุ่มอำเภอ” การสร้างความเข้มแข็งให้กับคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาที่ยั่งยืน  สำหรับด้านการให้บริการประชาชนได้มีการจัดห้องโถงชั้นล่างศาลากลางจังหวัดให้เป็นเสมือนห้องรับแขก  พร้อมมีเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับและให้บริการประชาชนที่ไปติดต่อราชการ   การปรับรูปแบบศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก  รวดเร็ว โดยการลดงานธุรการ และขั้นตอนต่างๆ    การจัดเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมลงพื้นที่เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน   การจัดตั้งศูนย์บริการร่วมศูนย์ดำรงธรรมส่วนหน้าในห้างสรรพสินค้า  ซึ่งเปิดให้บริการทุกวัน     การปรับรูปแบบ”จังหวัดเคลื่อนที่” เน้นการไปพบประชาชนแบบเรียบง่ายไม่เป็นทางการ   เพื่อลดช่องว่างระหว่างข้าราชการกับประชาชน และรับทราบปัญหา ความต้องการของประชาชนโดยตรง  การสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมกันเป็นเจ้าของสิ่งสาธารณประโยชน์  หรือเส้นทางคมนาคมที่ใช้งบพัฒนาจังหวัดโดยให้ประชาชนร่วมเปิดถนน  หรือสิ่งสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ในชุมชน   เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ  ความผูกพัน ร่วมกันดูแลรักษา       

              ด้านการพัฒนาอาชีพ  เน้นการให้ความสำคัญกับภาคเกษตร     โดยกำหนดจุดเน้น ” สงขลาเกษตรก้าวหน้า:เกษตรสุขภาพ เกษตรคุณภาพ  เกษตรผสมผสาน   เกษตรแปลงใหญ่ นวัตกรรมเกษตร”  พร้อมกันนี้ได้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้จัดตั้งเครือข่ายเกษตรกรตามชนิดพืช 48 ชนิด     การส่งเสริมฟื้นฟูพืชที่เป็นอัตลักษณ์ อาทิ  ส้มจุกจะนะ   ส้มโอหอมควนลัง  สะหวาหรือละมุดบางกล่ำและเกาะยอ    สะตอเกาะใหญ่   จำปาดะไร้เม็ดสะบ้าย้อย   ทุเรียนนางงามนาหม่อม      นอกจากนี้ได้ร่วมกับสวทช.วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปตาลโตนดและมะม่วง  6  รายการ     สนับสนุนงบประมาณปรับปรุงโรงแปรรูปมะม่วงดอง  อุปกรณ์แปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ตาล สนับสนุนโรงสีข้าว เครื่องแยกเมล็ดพันธุ์ข้าว และบรรจุภัณฑ์เครือข่ายชาวนา ที่อำเภอระโนดและรัตภูมิ    การส่งเสริมการเกษตรเน้นหนักเป็นรายหมู่บ้าน อาทิ ทุเรียนหาดทราย ธารคีรี  กาแฟบาโหย บ้านโหนด  อำเภอสะบ้าย้อย   มะพร้าวน้ำหอมทุ่งหวัง อำเภอเมือง     หมู่บ้านผักเหนาะบ้านหาญ   ผักไฮโดรโปรลิค   คึ่นไช่บ้านทุ่งลาน  อำเภอคลองหอยโข่ง   การส่งเสริมการปลูกพืชร่วมพืชแซมยาง  วนเกษตร พืชสมุนไพร ขยายผลพืชตัวใหม่   พืชทางทางเลือกที่มีลู่ทางการตลาดที่ดี   อาทิ ส่งเสริมการปลูก สร้างโรงคัดแยก บรรจุ และโรงงานแปรรูปกล้วยหอมทอง   ส่งเสริมการปลูกกล้วยหินและโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการส่งออกในรูปของแป้งทำขนมไปยังประเทศญี่ปุ่น    ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสภาเกษตรกรฯส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมเขียวเพื่อการส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน   การขยายผลการปลูกฝรั่งกิมจู   พุทรานม เมลลอน ชมพู่ทับทิมจันทร์ ในพื้นที่อำเภอระโนด   พัฒนาระบบน้ำระบบไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ส่งเสริมการปลูกกล้วยน้ำว้าไส้เหลืองและพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร     ขยายผลการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้และผักอินทรีย์ในพื้นที่อำเภอสทิงพระ   ขยายผลการปลูกและแปรรูปมัลเบอรี  เห็ดในพื้นที่ตำบลพะตง  อำเภอหาดใหญ่  และอำเภอจะนะ   ฟื้นฟูผักปลอดภัยตำบลบางเหรียง  อำเภอบางกล่ำ  การส่งเสริมการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ  ไม้ตัดใบที่คลองหอยโข่ง   การยกระดับโครงการนา 1 ไร่ ได้ 1 แสน เป็นเกษตรผสมผสานตามรอยเท้าพ่อ 1 ไร่ได้หลายแสนริเริ่มหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงขยายผลฟาร์มตัวอย่างฯที่อำเภอสะบ้าย้อยและคลองหอยโข่ง   หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนรอบโรงเรียนตชด.ทุกโรง   ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่รอบแหล่งน้ำทุ่งพระยอดฟาร์มที่อำเภอเทพา และหัวเมืองฟาร์มที่อำเภอนาทวี

               ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ  ได้เปิดแคมเปญ “สงขลามหาสนุก..สุขทั้งปีที่สงขลา” ซึ่งได้รับการตอบรับทั้งจากชาวสงขลาที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมสงขลามหาสนุกอย่างเต็มที่  และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดสงขลาอย่างต่อเนื่อง   โดยทางจังหวัดสงขลาได้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ  และใช้สื่อทุกช่องทาง  ในปี 2560 ได้กำหนดให้เป็น”ปีท่องเที่ยวสงขลา2560  มีการเปิดหลาด2  เล”เก๋ไก๋ สร้างรายได้ให้ประชาชน   และดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสัมผัสย่านเมืองเก่าสงขลา  โดยการพัฒนาเป็น”ถนนวัฒนธรรม ลานเด็กยิ้ม ตลาดนัดชุมชน จุดนัดพบ ของคนรุ่นใหม่”   พร้อมกับการจัดให้มี”สตรีท อาร์ต” ฉายภาพเรื่องราวในอดีต พร้อมปฏิมากรรม ป้ายชี้ทาง   สร้างสีสันย่านเมืองเก่า  ปรับปรุงภูมิทัศน์หน้ามัสยิดบ้านบน ประดับโคมไฟ “ถนนฮาลาล”   โดยได้สนับสนุนงบประมาณให้ภาคประชาชน สภาเด็กและเยาวชน จัดกิจกรรมสร้างสุข   ผลงานที่กำลังดำเนินการในขณะนี้คือการจัดหางบประมาณนำสายไฟฟ้าลงดินถิ่นเมืองเก่า เพื่อเพิ่มคุณค่าย่านเมืองเก่าให้เป็นถนนที่สวยงาม  การสร้างท่าน้ำแห่งใหม่ไว้เปิดท่องเที่ยวทางน้ำ   การแก้ปัญหาจราจรคับคั่งด้วยการสร้างลานจอดรถรวม  และนำนักท่องเที่ยวชมเมืองด้วยรถราง      การปลุกกระแสการท่องเที่ยวเกาะยอ  โดยการจัดเทศกาลท่องเที่ยวเกาะยอปรับปรุงถนนรอบเกาะ จัดให้มีรถราง สร้างประติมากรรมปลากระพง เพื่อให้เป็นจุดแลนด์มาร์ค  ซึ่งจะส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การจัดเทศกาล”หาดใหญ่ ฮาร์ดเซล”  การเปิด”ถนนคนเดิน” และ”ปฎิมากรรมความรัก”สัญลักษณ์ถนนเสน่หานุสรณ์    สนับสนุนงบประมาณสานต่อพุทธมณฑล อุทยานเขาเล่  เน้นการท่องเที่ยวเพิ่มพลังชีวิต เสริมศิริมงคล   จัดให้มีเทศกาล”ดนตรี ชายเล เทพา”   สร้างปฏิมากรรมปลาซูยี ที่ชายหาดสะกอม เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากชายแดนใต้   การปรับปรุงร้านไก่ทอดสถานีรถไฟเทพา   สร้างแบรนด์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ สนับสนุนคีออส ประชาสัมพันธ์    การจัดงาน”ย้อนรอยประวัติศาสตร์อุโมงค์เขาน้ำค้าง” ปรับปรุงเส้นทาง ภูมิทัศน์ ระบบไฟฟ้า พัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับด่านประกอบ วัดนาทวี และถ้ำตลอด     ปรับปรุงถนนเชื่อมสะบ้าย้อย-วัดช้างไห้ เพื่อตามรอยหลวงปู่ทวด    การขยายเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สวนประวัติศาสตร์ฯ ปรับภูมิทัศน์บริเวณหน้าอนุสาวรีย์กรมหลวงลพบุรีราเมศร์บนเขาน้อย ให้เป็น”สวนสวรรค์” พัฒนาอาคารร้างเป็น”ศูนย์สร้างสรรค์เยาวชน    การส่งมอบอาคารสโมสรข้าราชการเดิมให้เทศบาลนครสงขลา ปรับปรุงเป็น”สโมสรช่อลำดวนสมิหลา”  เพื่อสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาผู้สูงวัย    การงาน”สงขลาเรโทรเฟส”เชื่อมโยง”วันสงขลา” เสนอททท.จัดงาน”สมิหลามิวสิคเฟสติวัล” พัฒนาจุดชมทิวทัศน์”เก้าแสน แสนรัก” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดนิยม   การปรับปรุงภูมิทัศน์และก่อสร้างสะพานแขวนท่าหลวงและท่าน้ำวัดบางหยี เตรียมเปิดตลาดน้ำบางกล่ำ   การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เกษตรวัฒนธรรม ตามด้วยพิพิธภัณฑ์มีชิวิต”โหนด นา เล”ที่อำเภอสทิงพระ  นั่งรถราง บนเส้นทางหลวงปู่ทวด  เชื่อมโยงวัดดีหลวง วัดพะโคะ สำนักสงฆ์นาเปล  ต้นเลียบ และล่องแพชมทะเลสาบ ที่คลองรี

              ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ระบบสาธารณูปโภค  การบูรณาการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ  ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณพิเศษจากรัฐบาลมาแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพิ่มแหล่งน้ำจืด น้ำเพื่อการเกษตร สร้างเขื่อนชะลอคลื่นแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง   พร้อมส่งเสริมการเลี้ยงปลาในกระชัง เพิ่มรายได้ชาวประมงพื้นบ้าน   นอกจากนี้ได้ประสานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบูรณาการแก้ปัญหาพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้งระบบ จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระเป็นการเฉพาะ  บูรณาการระบบการคมนาคมขนส่ง ปรับปรุงถนนในหมู่บ้านชุมชน แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่  ดดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปเยี่ยมเยียน         และให้กำลังใจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง   และการจัดทำโครงการ”ธารน้ำใจซื้อเมล็ดพันธ์ุข้าวให้ชาวนา ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย”ส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้นหลังน้ำลดและ โครงการครึ่งไร่คลายจนคนน้ำท่วม    สนับสนุนพันธุ์ผัก ปู ปลา แก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนเกษตกรที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ   

              ในด้านการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ได้มีการสร้างแบรนด์”เบส ออฟ สงขลา” ให้แก่ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า ภายใต้แนวคิด”ของดีสงขลาน่าซื้อ”และ”สงขลา.อร่อย”    การสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์มะพร้าวโนบรา”น้ำโอ”    กะปิเทพาเครื่องแกงอินทรีย์ ไข่เค็ม เป็ดพะโล้ปากแตระ    พัฒนาระบบไฟฟ้าวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงจระเข้    การปรับปรุง”เรินผ้าลีมาแล” สนับสนุนโอทอปเทรดเดอร์ ของ csr   การพัฒนาสถานที่กลุ่มทอผ้ากระแสสินธุ์

              ด้านการ”ลดความเหลื่อมล้ำ แบ่งปันความสุข”จัดสรรงบประมาณ กระจายประโยชน์จากพัฒนา ให้ถึงมือคนด้อยโอกาส ลำบาก ยากจน ประชาชนระดับฐานรากมากขึ้น  มีการจัดทำโครงการ”แก้จนคนเมือง” ซ่อมแซมบ้านเรือนคนลำบาก สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์     ไปประกอบอาชีพคนจนเมือง บูรณาการทุกองค์กรพัฒนาคุณภาพชีวิตดูแลช่วยเหลือเพื่อให้พึ่งตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง   โครงการ”สงขลาปันสุข 2 สุด” เพื่อดูแลช่วยเหลือคนลำบากที่สุดทุกหมู่บ้านให้มีปัจจัย4ครบถ้วน  และมีอาชีพสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น    หน่วยงานที่เกี่ยวงข้องจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาเร่งรัดพัฒนาหมู่บ้านที่ลำบากที่สุดของทุกอำเภอ จัดทำโครงการซ่อมแซมบ้านเรือนผู้ด้อยโอกาสผู้ยากไร้เต็มพื้นที่ทั้งจังหวัด เร่งรัดช่วยเหลือคนพิการ  ผู้ป่วยติดเตียง เด็กพิเศษ ดูแลเกษตรกรยากจน จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไข้ในพระราชานุเคราะห์และครอบครัวแบบองค์รวม    การพัฒนาและส่งส่งเสริมพัฒนาการของเด็กและเยาวชนภายใต้แนวคิด “เด็กสงขลาดี มีอนาคต”    ได้มีการจัดทำโครงการ”แรกเกิดเริ่มอ่าน”  “สงขลาเมืองนักอ่าน” โดยการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยต้นแบบที่ห้องสมุดประชาชนสงขลา บูรณาการทุกหน่วยงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนตชด.และชุมชนอย่างเป็นระบบ มีการจัดตั้ง”สโมสรเงือกน้อย”   จัดทำรถซาเล้งมินิบาย”ห้องสมุดเคลื่อนที่”มอบให้ กศน.นำความรู้สู่ชุมชนทั้ง 16 อำเภอ จัดค่ายภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียน 4 อำเภอชายแดน        พัฒนาทักษะนักศึกษาอาชีวะรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษและ”รับเบอร์ซิตี้” เปิดพื้นที่”ลานเด็กยิ้ม”ให้เยาวชนได้แสดงความรู้ความสามาถในหลาด 2 เล จัดค่ายเยาวชนสงขลามหาสนุก เชื่อมเครือข่ายองค์กรเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีบทบาทเต็มที่  มีสำนักงานเป็นของตนเอง สนับสนุนค่ายเยาวชนรักษ์พงไพรและค่ายบ่มเพาะคนดี ริเริ่มโครงการพัฒนาผู้นำมุสลิมรุ่นใหม่ สร้างความเข้าใจ ไว้วางใจระหว่างเยาวชนต่างวัฒนธรรม นำงานวิจัยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5ช่วงวัย แปลงเป็นแผนปฏิบัติการ มีโครงการรองรับ ขับเคลื่อนจริงจัง ระมัดระวังแก้ปัญหายาเสพติดต่อเนื่อง

             เพื่อให้การพัฒนาจังหวัดสงขลาภายใต้แผน 15 วาระ เดินหน้าสงขลา เดินหน้าประเทศไทยได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารระดับจังหวัดได้ติดตามความก้าวหน้า ประสานงานเร่งรัดโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริการสาธารณะขนาดใหญ่   พร้อมกับการสร้างกลไกความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆตามแนวทางประชารัฐ   สนับสนุนให้นำงานวิจัยมาใช้งานจริงจังโดยนำผลงานวิจัย”จากหิ้งสู่ห้างและชุมชน” เพื่อให้มีการนำผลวิจัยมาใช้ประโยชน์กับการพัฒนาให้เป็นรูปธรรม     การวางระบบการบริหารการพัฒนาจังหวัดในเชิงยุทธศาสตร์ จัดตั้งคณะทำงานยกร่าง”ยุทธศาสตร์สงขลา20ปี”และ”สงขลา4.0″เพื่อเตรียมการรองรับการบริหารราชการแผ่นดินในเชิงยุทธศาสตร์ การปฏิรูปประเทศ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์และไทยแลนด์4.0ของรัฐบาล    การสร้างพื้นที่”สงขลาปลอดภัย”โดยการบูรณาการ   ประสานแผน    การดำเนินงานกับทุกภาคส่วนและสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ ยานพาหนะ  การพบปะเยี่ยมเยียนพบปะดูแลความเป็นอยู่ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร  ในการรักษาความปลอดภัย  ความสงบเรียบร้อยในพื้นที่4อำเภอชายแดนและพื้นที่เศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง ตามแผนพัฒนากลุ่มอำเภอ”สงขลาจตุรพัฒน์”เป็นการเฉพาะ   การขับเคลื่อน”สงขลาเมืองสวยน้ำใส”บริหารจัดการขยะ   ผักตบชวา จัดระเบียบป้าย สายสัญญาณสายไฟ ร่วมมือร่วมใจเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งชาติและกีฬาคนพิการแห่งชาติ ประกาศศักดิ์ศรีชาวสงขลา ต่อยอดจากเมืองกีฬาสู่สงขลาเมืองสุขภาพดี 

              ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาการดำเนินงานได้รับการตอบรับจากประชาชนซึ่งได้ขับเคลื่อนทุกโครงการให้เป็นไปตามแผน  และประสบผลสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดเจน   ที่สำคัญคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน   ได้รับการบริการที่ดี  และการแก้ปัญหาจากหน่วยงานของรัฐอย่างทันท่วงที    ซึ่งทั้งหมดคือ “การบริหารการเปลี่ยนแปลง ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ และความสำเร็จร่วมกัน  โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” 

                               ————————————-

 

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics