มรภ.สงขลา เทียบเชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวูลองกอง ออสเตรเลีย

Spread the love

มรภ.สงขลา ดึงนักวิชาการ ม.วูลองกอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจั
ปูทางอาจารย์ นศ. ผลิตผลงานวิจัยความร่วมมือไทย-ออสเตรเลีย

                ศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา เทียบเชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวูลองกอง ออสเตรเลีย ถ่ายทอดประสบการณ์งานวิจัย หวังปูทางสร้างความร่วมมือวิชาการระหว่าง 2ประเทศ กระตุ้นอาจารย์-นักศึกษาผลิตผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ

 

   

         ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา(มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการและงานวิจัย โดยเชิญศาสตราจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยวูลองกอง (The University of Woollongong) ประเทศออสเตรเลีย มาให้ความรู้และคำแนะนำในการทำวิจัยแก่อาจารย์และนักศึกษา รวม 50 คน เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้พัฒนาตนเองด้านวิชาการและการวิจัย ทั้งยังก่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษาไปทำวิจัยในต่างประเทศ เกิดเป็นงานวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มรภ.สงขลา กับมหาวิทยาลัยวูลองกอง ซึ่งนอกจากผู้เข้าสัมมนาจะได้รับความรู้จากการบรรยายของวิทยากรในครั้งนี้แล้ว ยังได้ลงพื้นที่เพื่อหาโจทย์วิจัย ณ ชุมชนตำบลเกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา และอุทยานนกน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง   

                ผศ.ดร.ทวีสิน กล่าวว่า การวิจัยและการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการถือเป็นภารกิจสำคัญของอาจารย์ และเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคุณภาพที่สำคัญของการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ เนื่องจากผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ด้านวิชาการจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอีกด้วย ทว่า ปัจจุบันจำนวนผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางวิชาการต่อปี และจำนวนร้อยละของอาจารย์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการวิจัยของ มรภ.สงขลา ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยมีกองทุนสนับสนุนด้านการวิจัยอยู่เป็นจำนวนมาก

                ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ กล่าวอีกว่า สาเหตุมาจากอาจารย์ส่วนใหญ่มีอายุงานน้อย ใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อปฏิบัติภารกิจหลักคืองานสอน อีกทั้งยังขาดประสบการณ์ด้านการวิจัย ดังนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้อาจารย์ของ มรภ.สงขลา ทำงานวิจัย และสามารถตีพิมพ์ได้ในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมบรรยากาศทางวิชาการ เพิ่มพูนประสบการณ์จากการเสวนา การเล่าสู่กันฟัง การแลกเปลี่ยน และกระตุ้นให้คณาจารย์ได้มีการตื่นตัวด้านผลิตผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางวิชาการ นำไปสู่การพัฒนาตนเองเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ การศึกษาต่อ และอื่นๆ อันจะเป็นประโยชน์ในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics