มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดเสวนารับฟังความคิดเห็นการจัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดการเสวนา โครงการเสวนารับฟังความคิดเห็นการจัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ณ ห้องเรียน วสก. 4301 จัดโดยคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา โดยมี อาจารย์ ดร.พลกฤษณ์ คล้ายวิตภัทร และ อาจารย์ ดร.สุกาญจนา กำลังมาก ร่วมนำเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรับรู้และเข้าใจประเด็นปัญหาช่วยกันผลักดันให้เกิดข้อสรุปในลักษณะของแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลและเครือข่ายประชาชนอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยในอนาคต
สำหรับโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยทักษิณจากสถิติในปี พ.ศ. 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า มีผู้มาใช้บริการ ทางการแพทย์แผนไทยมากขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณ ด้านบริการแพทย์แผนไทย 7.90 บาท ต่อผู้มีสิทธิ UC จำนวน 47.644 ล้านคน มีผู้ใช้บริการ รวม 6.399 ล้านคน/13.202 ล้านครั้ง แยกเป็นการนวด-ประคบ -อบสมุนไพร 1.942 ล้าน/ครั้ง บริการฟื้นฟูสุขภาพมารดาหลังคลอด 60,493 คน/ครั้ง ใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 4.394 ล้านคน/9.089 ล้านครั้ง (กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ,2565) อีกทั้งในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข เน้นส่งเสริมการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการรักษาผู้ป่วย เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลแผนปัจจุบันการบริการการแพทย์แผนไทย จึงเป็นทางเลือกด้านการดูแลสุขภาพของคนไทย ให้เกิดประโยชน์สูงและประหยัดสุด
วัตถุประสงค์ของโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
1. ก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลในพื้นที่ด้านหน้ามหาวิทยาลัย
2. ให้บริการทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
3. ส่งเสริมใช้ยาสมุนไพร กระจายความรู้เรื่องยาสมุนไพรไทย ให้เป็นที่รู้จักในชุมชน
4. เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติของบุคลากรและนิสิตสาขาการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน
และวิทยาการสุขภาพอื่น ๆ
ทั้งนี้ มีการกำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน 6 ปี (2567-2572) โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 310,016,130 บาท โดยมีรายละเอียดการดำเนินงานแต่ละระยะดังนี้
ระยะที่ 1 (มีนาคม พ.ศ. 2567) มีการขยายพื้นที่บริการจากคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา (80 ตารางเมตร) ไปที่อาคารทักษิณาคาร (พื้นที่ 560 ตารางเมตร) โดยมีบุคลากรรองรับดังนี้ อาจารย์แพทย์แผนไทย 12 คน แพทย์แผนไทย 3 คน ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 3 คน เจ้าหน้าที่บริหารงาน 2 คน (งบประมาณ 2,000,000 บาท)
ระยะที่ 2 (พ.ศ.2568-2569) เป็นช่วงของการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล มีขนาดพื้นที่ 3,446 ตารางเมตร และจัดหาครุภัณฑ์ สำหรับให้บริการผู้ป่วยใน จำนวน 30 เตียง (งบประมาณ 121,749,400 บาท)
ระยะที่ 3 (พ.ศ.2570-2571) ดำเนินการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีก 3,995 เมตร และเปิดให้บริการ 8 คลินิก (การแพทย์แผนไทย 7 คลินิก การแพทย์แผนจีน 1 คลินิก) ได้แก่ คลินิกอาการปวดเรื้อรัง คลินิกอัมพฤกษ์อัมพาต คลินิกสะเก็ดเงิน คลินิกมารดาหลังคลอด คลินิกบำบัดยาเสพติด คลินิกลมปะกัง คลินิกประทินโฉม คลินิกแพทย์แผนจีน ให้บริการผู้ป่วยใน จำนวน 60 เตียง (งบประมาณ 118,587,000 บาท)
ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2572) ก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีก 2,327 ตารางเมตร (พื้นที่รวมทั้งหมด 10,328 ตารางเมตร) ขยายขนาดของโรงพยาบาลเป็นขนาด 100 เตียง (งบประมาณ 67,017,600 บาท)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ หมายเลขโทรศัพท์ 074 – 609613