ระบบไฟฟ้าภาคใต้มั่นคง จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่

Spread the love

 

ระบบไฟฟ้าภาคใต้มั่นคง จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่

กฟผ. แจง ภาพรวมของระบบไฟฟ้าภาคใต้ในปัจจุบันยังอยู่บนความเสี่ยง จำเป็นต้องสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักที่เดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพิ่มเติม เพื่อรองรับการเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคง และประชาชนมีค่าไฟถูกในระยะยาว

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ว่า ภาคใตัมีกำลังผลิตสำรองต่ำกว่ามาตรฐานความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มกำลังผลิตแบบเสถียรจากโรงไฟฟ้าหลักเพื่อดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวม ส่วนพลังงานหมุนเวียนมีส่วนช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ มีข้อจำกัดไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงกลางคืน พลังงานชีวมวล สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและราคาของผลผลิตเป็นหลัก จึงต้องมีกำลังผลิตสำรองจากโรงไฟฟ้าพลังงานหลักเสริมการจ่ายไฟฟ้า (Backup) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และการจะทำให้พลังงานหมุนเวียนมีความมั่นคง สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ควบคุมและสั่งการได้เทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าหลักนั้น จำเป็นจะต้องมีการลงทุน ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าหลัก ภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน จึงยังไม่สามารถใช้ทดแทนพลังงานหลักได้

“การเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภทต้องสอดคล้องกับลักษณะการใช้ไฟฟ้าด้วย เช่น ภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีความต้องการไฟฟ้าสูงในช่วงกลางคืน การส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ปริมาณมาก ๆ ช่วยเสริมกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงกลางวัน โรงไฟฟ้าพลังงานหลักที่ผลิตได้กลางวันและกลางคืน 24 ชั่วโมงจึงยังจำเป็นควบคู่กันในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ระบบไฟฟ้ามั่นคง ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โฆษก กฟผ. กล่าว

สำหรับนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภาคใต้นั้น กระทรวงพลังงานและ กฟผ. มีการส่งเสริม สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภาคใต้มาตลอด โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการเปิดรับซื้อแล้วมากกว่า 730 เมกะวัตต์ และล่าสุดมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภาคใต้อีก 100 เมกะวัตต์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายในการจัดหาไฟฟ้าทั้งจากโรงไฟฟ้าหลักและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
ต่อประเด็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลานั้น โฆษก กฟผ. กล่าวต่อไปว่า ได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แบ่งเป็น 2 รายงาน คือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือเทพา ตามข้อกำหนดของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่ต้องแยกการพิจารณาตามคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เป็น 2 คณะ ประกอบด้วย คชก. ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน พิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าเทพา และ คชก. ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ พิจารณาโครงการท่าเทียบเรือเทพา

ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กฟผ. ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
ครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จัดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 มีผู้เข้าร่วม 3,860 คน
ครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนการประเมินและจัดทำร่างรายงาน EHIA เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2558 มีผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย 708 คน และมีการสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ครัวเรือน ด้วยแบบสอบถาม จำนวน 1,461 ตัวอย่าง
ครั้งที่ 3 เพื่อทบทวนร่างรายงาน EHIA เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 มีผู้เข้าร่วมจำนวน 6,498 คน

โครงการท่าเทียบเรือเทพา
ครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จัดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 มีผู้เข้าร่วม 3,805 คน
ครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนการประเมินและจัดทำร่างรายงาน EHIA เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2558 มีผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย 708 คน และมีการสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ครัวเรือน ด้วยแบบสอบถาม จำนวน 1,433 ตัวอย่าง
ครั้งที่ 3 เพื่อทบทวนร่างรายงาน EHIA เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 มีผู้เข้าร่วมจำนวน 6,121 คน

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องอย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดเฉพาะรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่ตั้งโรงไฟฟ้า ตามที่ สผ. กำหนด

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ใช้เวลาในการศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ประมาณ 1 ปี จากนั้น คชก. ได้ใช้เวลาในการพิจารณารายงาน EHIA อย่างรอบคอบอีกถึง 1 ปี 10 เดือน รวมเป็นเวลาเกือบ 3 ปี คชก. จึงได้พิจารณาเห็นว่าข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าวมีความครบถ้วน ซึ่งจากนี้จะได้มีการนำรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอต่อ สผ. อีกครั้ง ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ตามขั้นตอนต่อไป
—————————————-

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics