“ไอแบงก์” ครบรอบ 16 ปี ก้าวสู่ปีที่ 17 หลังแผนฟื้นฟู เร่งสร้างกำไร เน้นความยั่งยืนทางการเงินคู่ธรรมาภิบาลที่ดี พร้อมพัฒนาระบบไอที

Spread the love

“ไอแบงก์” ครบรอบ 16 ปี ก้าวสู่ปีที่ 17 หลังแผนฟื้นฟู เร่งสร้างกำไร เน้นความยั่งยืนทางการเงินคู่ธรรมาภิบาลที่ดี พร้อมพัฒนาระบบไอที

 

ไอแบงก์ ครบรอบ 16 ปี ก้าวสู่ปีที่ 17 ระเฑียร  ศรีมงคล ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ระบุเป็นปีที่สำคัญหลังออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อตอนต้นปี จบไตรมาสแรกสามารถทำกำไรสุทธิกว่า 170 ล้านบาท ยังคงมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้ามุสลิมตามพันธกิจธนาคาร ควบคู่การขยายสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายใหญ่คุณภาพสูงความเสี่ยงต่ำ พร้อมเร่งพัฒนาระบบสารสนเทศ (ไอที) เพื่อรองรับโมบายแบงก์กิ้ง   

นายระเฑียร  ศรีมงคล ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เป็นประธานงาน “16th Anniversary ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 16 ก้าวสู่ปีที่ 17 พร้อมร่วมประกอบพิธีการทางศาสนาและให้การต้อนรับ ฯพณฯอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ซึ่งให้เกียรติเป็นประธานกล่าวขอพรสร้างความสิริมงคล ร่วมกับกลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามระดับประเทศหลายท่าน ในช่วงเช้าวันนี้ ณ สำนักงานใหญ่ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมเผยว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2545) และเริ่มเปิดดำเนินกิจการครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2546 จวบจนถึงวันนี้ (12 มิถุนายน พ.ศ.2562) ได้เวียนมาบรรจบครบรอบการดำเนินกิจการเป็นปีที่ 16 ก้าวสู่ปีที่ 17 ของธนาคาร นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันระลึกถึงวันที่เริ่มต้นดำเนินกิจการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และสร้างความเป็นสิริมงคล

          โดยเมื่อต้นปี 2562 คนร. เห็นว่าไอแบงก์มีผลประกอบการที่ดีแล้วและมีการปรับปรุงระบบการทำงานซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในอดีตและสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการของไอแบงก์ในอนาคตได้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2562 วันที่ 17 มกราคม 2562 จึงมีมติเห็นชอบให้ไอแบงก์ออกจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรและมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับดูแลไอแบงก์ ให้สามารถดำเนินการตามแผนงานต่อไป ซึ่งคณะกรรมการก็ได้มอบนโยบายแก่ฝ่ายจัดการในการสร้างความยั่งยืนทั้งทางการเงิน การปฏิบัติการ และธรรมาภิบาล อย่างต่อเนื่อง นายระเฑียร กล่าว

 

นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กรรมการและผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ณ สิ้นปี 2561 ที่ผ่านมานั้น ธนาคารสามารถทำกำไรได้ในรอบ 5 ปี โดยมีกำไรสุทธิ 531 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 80,590 ล้านบาท  และธนาคารมีการพัฒนากระบวนการและระบบงานเพื่อเพิ่มประสิทธิและดำเนินการสร้างความยั่งยืนตามนโยบายที่คณะกรรมการธนาคารมอบไว้ให้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ ณ สิ้นไตรมาส 1/2562 เป็นเงินกว่า 170 ล้านบาท มีสินเชื่อรวม 52,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 ที่ 2,517.44 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.02 และสามารถลดต้นทุนเงินฝากได้ดีกว่าเป้าหมายปี 2562 ที่ร้อยละ 0.23 ด้านประสิทธิภาพของการบริหารจัดการต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ร้อยละ 70 ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีกว่าเป้าหมาย นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มลูกค้า ยังคงมุ่งเน้นลูกค้ามุสลิมตามพันธกิจของธนาคาร เพื่อให้เป็นธนาคารหลักของลูกค้ามุสลิมในขณะเดียวกันก็จะเป็นทางเลือกที่ดีของลูกค้าทั่วไป ธนาคารมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจรวมถึงลูกค้ารายใหญ่ที่มีคุณภาพและความเสี่ยงต่ำ โดยธนาคารมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน  ยกระดับการให้บริการทางการเงิน เพื่อสร้างความทัดเทียมในการให้บริการทางการเงินและเพิ่มความสะดวกสบาย ขณะนี้ลูกค้าเงินฝากของไอแบงก์สามารถรับโอนเงิน ผ่านแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนจากสถาบันการเงินอื่นได้ทุกแห่งเรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการ Mobile Banking ของธนาคารก็มี Priority ต้องปรับปรุงโครงสร้าง IT Infrastructure ให้แล้วเสร็จในสิ้นปี 2562 และคาดว่าจะให้บริการ Mobile Banking ได้ภายในกลางปี 2563 สำหรับระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISMS) ไอแบงก์ก็ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกๆที่ได้รับการรับรอง มาตรฐานISO/IEC 27001 เวอร์ชั่น 2013 สามารถเสริมสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการว่ามีความปลอดภัยจากโลกไซเบอร์ได้

นอกจากนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการจัดเตรียมพนักงานเพื่อให้มีความพร้อมทางด้านการประเมินคุณธรรม และความสร้างความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ  (ITA) เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับพนักงานและผู้บริหารสูงสุดของธนาคารต่อการให้ความสำคัญกับการประกาศเจตนารมย์สุจริตของธนาคาร และเพื่อจะรักษาคะแนน ITA ในปี 2562 ให้ไม่น้อยไปกว่าในระดับเดิม (ร้อยละ 93.24) นายวุฒิชัย กล่าวทิ้งท้าย

 

 

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics