มรภ.สงขลา ฝึก นศ.เกษตรปลูกถั่วแระญี่ปุ่น

Spread the love

มรภ.สงขลา ฝึก นศ.เกษตรปลูกถั่วแระญี่ปุ่น

                คณะเทคโนโลยีเกษตร มรภ.สงขลา สอนนักศึกษาปลูกถั่วแระญี่ปุ่น เผยเป็นพืชส่งออกที่น่าจับตา ปลูกได้เกือบตลอดทั้งปี แถมมีความสามารถตรึงไนโตรเจน ช่วยเกษตรกรลดใช้สารเคมีได้อย่างดี

                อ.ธัชวีร์ ขวัญแก้ว โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ในฐานะอาจารย์ประจำสถานีปฏิบัติการพืชไร่ คณะเทคโนโลยีการเกษตร #มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา)  เปิดเผยว่า ในการเรียนวิชาพืชไร่เศรษฐกิจ นักศึกษาของทางคณะฯ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชชนิดต่างๆ หนึ่งในนั้นคือถั่วแระญี่ปุ่นหรือที่บางคนเรียกว่า ถั่วเหลืองผักสด” โดยทางคณะฯ นำสายพันธุ์ KPS 292 มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ เหตุที่เรียกว่าถั่วแระญี่ปุ่น เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศดังกล่าว แม้ญี่ปุ่นจะปลูกอยู่แล้วแต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด  #ถั่วแระญี่ปุ่น จึงถือเป็นพืชที่น่าสนใจ หากเกษตรกรหรือประชาชนรายใดสนใจสามารถเข้ามาศึกษาดูงานและขอคำแนะนำจากแหล่งเรียนรู้ของคณะเทคโนโลยีการเกษตรได้ ในส่วนของนักศึกษาต้องดูแลทุกขั้นตอนตั้งแต่แรก เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง

                อ.ธัชวีร์ กล่าวว่า ถั่วแระญี่ปุ่นมีรสชาติหวานอร่อย เนื้อละเอียด ที่สำคัญ ปลูกง่ายมากแทบไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเลย และสามารถปลูกได้เกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นช่วงเดือนพฤศจิกายนธันวาคม ที่มีฝนตกหนัก ชอบดินร่วน ดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ใช้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 70 วัน เป็นพืชที่มีการปลูกมานานแล้วโดยเฉพาะในภูมิภาคอื่นๆ แต่ในภาคใต้เริ่มนิยมเมื่อไม่นานมานี้ สำหรับระยะปลูก 30×20เซนติเมตร 30 คือ ระยะระหว่างแถว ส่วน 20 คือ ระยะระหว่างต้น อัตราปลูก 3 เมล็ดต่อหลุม และมีโอกาสงอกสูงถึง 80-90% ขึ้นอยู่คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ด้วย ผลผลิตในการเก็บเกี่ยวแต่ละ 1 ไร่อยู่ที่ปริมาณ 750-800กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนราคาต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 40-60 บาท (ราคาฝักสดมาตรฐานนอกจากนั้น เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกในรอบต่อไปได้ โดยคุณภาพยังดีเช่นเดิม ลักษณะทางพันธุกรรมไม่เปลี่ยนแปลง

                อาจารย์ประจำสถานีปฏิบัติการพืชไร่ กล่าวอีกว่า พืชตระกูลถั่วมีข้อดีคือมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนเอาไว้ได้ จึงช่วยลดการใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีได้เป็นอย่างดี ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม อยากให้เกษตรกรเพิ่มความระมัดระวังเรื่องการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด สำหรับพืชตระกูลถั่วควรหลีกเลี่ยงปุ๋ยเดี่ยวไนโตรเจน เช่น สูตร 46-0-0 (ยูเรียหรือ 21-0-0 (แอมโมเนียมซัลเฟต) เนื่องจากเป็นการเพิ่มปริมาณไนโตรเจนโดยไม่จำเป็น แต่ควรเลือกใช้สูตร 15-15-15 หรือ 18-24-24 เพราะมีอัตราส่วนปริมาณฟอสฟอรัสและโพเเทสเซียมสูงพอเหมาะ ซึ่งพืชตระกูลถั่วไม่สามารถสร้างเองได้และจำเป็นต้องได้รับจากดิน

ด้าน น.ส.ศุภนิดา จันทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชาเกษตรศาสตร์ และ น.ส.จินตนาภา ดำกลึง โปรแกรมเทคโนโลยีเกษตร แขนงวิชาการผลิตพืช กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกเรียนทางด้านเกษตรก็เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาและต่อยอดให้กับตนเองและชุมชน ถือเป็นความท้าทายที่หากเรียนด้านอื่นอาจไม่ได้ทำในลักษณะนี้ เริ่มตั้งแต่ขุดดิน เตรียมแปลง ไปจนถึงออกจำหน่ายผลิตผล ตนและเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการ คิดว่าตัดสินใจถูกแล้วที่เรียนเกษตรซึ่งเป็นศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้จริง โดยที่ผ่านมาคนในชุมชนเคยมาขอความรู้เรื่องการเตรียมดิน ปลูกพืช ตนจึงอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาเรียนเกษตรกันให้มากขึ้น เพราะการเรียนในศาสตร์แขนงนี้เมื่อจบออกไปแล้วไม่ใช่แค่ปลูกผัก เลี้ยงปลา แต่จริงๆ แล้วความรู้กว้างกว่านั้นมาก เช่น เป็นนักวิชาการในโครงการหลวง เป็นต้น ซึ่งตนเคยไปฝึกงานที่นั่นและอยากกลับไปอีก

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics